วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รถม้าลำปาง



ความเป็นมาของรถม้าลำปางจากคำบอกเล่าและบันทึกของเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง อดีตนายกสมาคมรถม้าคนที่ ๒ ของจังหวัดลำปาง ซึ่งอนุสาร อ.ส.ท.
ฉบับเดือนตุลาคม พงศ.๒๕๓๗ ได้รวบรวมไว้มีใจความว่า รถม้าเริ่มเข้ามาในจังหวัดลำปางเมื่อประมาณ ๘๐ ปีที่แล้ว รถม้าคันแรกคาดว่าเป็นของแขก
หรือของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายซึ่งได้ซื้อมาจากกรุงเทพมหานคร โดยว่าจ้างแขกมาเป็นสารถี
ต่อมารถยนต์ในกรุงเทพฯ มีมากขึ้น รถม้าได้เริ่มอพยพมาในลำปางมากขึ้นและกระจัดกระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่น ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช
ภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ส่วนภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ และน่าน
ต่อมาปรากฏว่ามีเพียงจังหวัดลำปางที่นำรถม้ามาใช้อย่างแพร่หลาย ส่วนจังหวัดอื่นที่กล่าวมา รถม้าได้หมดความนิยมไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

อีกประมาณ ๓๙ ปี หลังจากที่รถม้าเริ่มเข้ามาวิ่งในจังหวัดลำปาง (พ.ศ.๒๔๙๒) ขุนอุทานคดี ซึ่งเป็นทนายของจังหวัดลำปาง เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมล้อเลื่อนขึ้น
โดยใช้ชื่อว่า สมาคมล้อเลื่อน จังหวัดลำปาง ตัวท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมรถม้าคนแรกของจังหวัดลำปาง โดยร่างกฎและระเบียบว่าด้วยสมาคมขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง ได้เข้ามาบริหารสมาคมแทนขุนอุทานคดีและเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นสมาคมรถม้า จังหวัดลำปาง
โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า THE HORSE CARRIAGE IN LAMPANG PROVINCE นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากิจการรถม้าในลำปาง
ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มอบเงินให้แก่เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และขอรับสมาคมรถม้าไว้ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล
อีกทั้งได้ตั้งกองทุนให้สมาคมรถม้าอีก ๑ กองทุน

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกยาเธอได้เสด็จพระราชดำเนิน
มายังจังหวัดลำปาง ในโอกาสนั้น เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง นายกสมาคม ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถม้าแบบ ๒ ล้อ พร้อมด้วยม้าเทียมรถ
ชื่อบัลลังก์เพชรแด่พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวิชราลงกรณ์ ในนามของเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และสมาคมรถม้า ซึ่งชาวรถม้าถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

ตามสถิติของกรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ รถม้าในจังหวัดลำปางมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๘๕ คัน จากากรสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ มีรถม้าลำปางเหลืออยู่เพียง ๗๐ คัน
และที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนจริงๆ มีเพียง ๕๐ คันเท่านั้น

ปัจจุบันนี้ท่าจอดรถม้าลำปางช่วงกลางวันจะอยู่ที่ข้างศาลากลางจังหวัดลำปาง ส่วนกลางคืนจะจอดทั้งที่ข้างศาลากลางจังหวัด และบริเวณหน้าโรงแรมต่างๆ
อาทิเช่น โรงแรมเอเชีย โรงแรมทิพย์ช้าง โรงแรมลำปางเวียงทอง เป็นต้น สำหรับค่าโดยสารซึ่งสมาคมรถม้าลำปางได้กำหนดไว้มี ๓ อัตรา คือ
รอบเมือง เที่ยวละ ๑๐๐ บาท รอบเมืองสองฝั่ง เที่ยวละ ๑๕๐ บาท เช่าเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ ๒๐๐ บาท (อัตราเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗) 

ลักษณะของรถม้าในเมืองลำปาง

รถม้าในเมืองลำปางเท่าที่พบเห็นอยู่ทั่วไป จำแนกได้ ๓ แบบ คือ

๑. รถม้า ๔ ล้อ รับจ้างทั่วไป (Queen Victoria ) ใช้ม้าลาก ๑ หรือ ๒ ตัว หรือมากกว่า ตัวถังโค้งงอเป็นรูปท้องเรือ รถม้าที่นำไปจากลำปาง
ไปรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร เนื่องในวันครบ ๘๐ ปี 


งานปศุสัตว์ก็เป็นรถม้าประเภทนี้

๒. รถม้า ๒ ล้อ ( Tap ) จะใช้ม้าลาก ๑ หรือ ๒ ตัว ก็ได้ อาจใช้เป็นรถฝึกม้าหรือใช้ส่วนตัว

๓. รถม้ากระบะ โดยมากเป็นแบบ ๔ ล้อ สมัยก่อนใช้ลากขนสินค้าหรือขยะมูลฝอย


ส่วนประกอบที่สำคัญของรถม้า มีดังนี้

โครงหลังคา ทำด้วยผ้าเทียมหนังหรือหนัง สมัยก่อนจะทึบ เปิดปิดได้ ด้านในประกอบด้วยโครง ทำด้วยไม้หรือเหล็ก ๒ ข้าง ดันโครงหลังคาให้ตึง

ตัวถัง ทำด้วยไม้บุด้วยทองเหลือหรือแผ่นเหล็กด้านหลัง และด้านข้างทั้ง ๒ ข้าง

แหนบ รถม้าจะใช้แหนบประกบกันให้โค้งเป็นรูปไข่แหนบกว้าง ๑ ๑/๔ นิ้ว หัวท้ายยึดด้วยนอตยืดหยุ่นได้

ลูกโม่ เป็นส่วนสำคัญหรือหัวใจของรถม้าในการเลี้ยงซ้ายและขวา

ลูกล้อและเพลา ล้อไม้ ล้อหน้า ๑๒ ซี่ ล้อหลัง ๑๔ ซี่

ตะเกียงรถม้า มีหลายรูปแบบ ของแท้ที่นำมาจากต่างประเทศหาดูได้ยาก จะมีให้ชมที่พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว จังหวัดลำปาง
ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นไฟแบตเตอรี่เกือบทุกคันเพราะรถยนต์มากขึ้น หากแสงจากตะเกียงไม่สว่างพอ จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
ระฆัง มี ๒ ฝา ประกบกัน มีเหล็กเหยียบ จะมีเสียงสะท้อนเป็น ๒ เสียง ดังกังวานไพเราะเมื่อเวลาขับขี่ และเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงม้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมัน


ที่มา : ล้านนาคดี

จาก   http://idealanna.igetweb.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น